แหล่งเรียนรู้ในอำเภอหัวหิน

                                10 แหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในอำเภอหัวหิน



1.ห้องสมุดประชาชนอำเภอหัวหิน

2.อนุสาวรีย์ โผน กิ่งเพชร

3.สถานีรถไฟหัวหินและพลับพลาพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

4.คลีนิคนิรนามโรงพยาบาลอำเภอหัวหิน

5.วัดเขาอิติสุคโต

6.กลุ่มแปรรูปสมุนไพรเชื่อม - แช่อิ่ม บ้านวังข่อย

7.แหล่งการเรียนรู้วิถีชีวิตชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ต.ห้วยสัตว์ใหญ่

8.แหล่งการเรียนรู้ วัดหนองพลับ

9.โครงการหม่อนไหมสมเด็จฯ

10.หอสมุดรัชมังคลาภิเษกวังไกลกังวลอำเภอหัวหิน



ประวัติและความเป็นมาของแหล่งเรียนรู้ 10 แห่ง



1. ห้องสมุดประชาชนอำเภอหัวหิน



ประวัติห้องสมุดประชาชนอำเภอหัวหิน

พระเจ้าวรวงค์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งมีพระตำหนักประทับแรมอยู่ที่อำเภอหัวหินได้เสด็จมาประทับแรม ณ พระตำหนักนี้เป็นประจำ ได้ทรงเห็นว่าในเขตอำเภอหัวหินไม่มีห้องสมุดส่วนรวมที่จะให้ประชาชน ได้อ่านหนังสือและรวบรวมเอกสารและสรรพหนังสือต่างๆ ไว้ให้ค้นคว้าหาความรู้จึงได้มีรับสั่งให้นายอำเภอหัวหินและเทศมนตรีหัวหิน จัดหาที่ดินก่อสร้างห้องสมุดประชาชน โดยพระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวนเงิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) มอบให้นายพื้น กระแสสินธุ์ นายกเทศมนตรีตำบลหัวหิน ก่อสร้างห้องสมุดประชาชน ณ ที่ดินสาธารณะริมถนนแนบเคหาสน์ ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน โดยเทศมนตรีตำบลหัวหินเป็นผู้รับไปดำเนินการปลูกสร้าง ตลอดทั้งการถมดิน ทำรั้ว เทศบาลตำบลหัวหินจึงได้ทำการปลูกสร้างเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ยาว 20.20 เมตร กว้าง 6 เมตร มีมุขด้านหน้ายาว 5 เมตร ภายในห้องเปิดเป็นห้องโถง

ครั้นเมื่อ วันที่ 26 ตุลาคม 2498 จึงได้กระทำพิธีเปิด โดย

พระเจ้าวรวงค์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ สำหรับเป็นที่อ่านหนังสือและจัดวางตู้ใส่หนังสือต่างๆ มีห้องสำหรับเก็บพัสดุ 1 ห้อง และมีห้องน้ำภายในอาคาร ติดตั้งไฟฟ้าเสร็จเรียบร้อย พื้นเทคอนกรีต และตัวอาคารทาสีรวงค์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเป็นองค์ประธาน และให้ชื่อว่า “ห้องสมุดประชาชนอำเภอหัวหิน (จุลจักรพงษ์บุญนิธิ)” เมื่อได้เปิดดำเนินการให้ประชาชนใช้แล้ว พระองค์ยังได้ทรงพระราชทานหนังสือต่าง ๆ ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชนิพนธ์จำนวนมากให้เป็นสมบัติของห้องสมุด นอกจากนั้นยังให้อยู่ในความอุปถัมภ์ของมูลนิธิ “จุลจักรพงษ์บุญนิธิ” ต่อมา ในปี พ.ศ. 2522กองการศึกษาผู้ใหญ่กระทรวงศึกษาธิการได้จัดจ้าง บรรณารักษ์และนักการภารโรง สำหรับดำเนินงานห้องสมุด และแต่งตั้งให้เป็นห้องสมุดประชาชนอำเภอพร้อมได้จัดสรรเงินงบประมาณให้แก่ห้องสมุดด้วย



2.อนุสรณ์สถาน “โผน กิ่งเพชร”



โผน กิ่งเพชร แชมป์มวยสากลโลกคนแรกของไทย

โผน กิ่งเพชร เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นสาขานันทนาการ การละเล่นพื้นบ้าน และการกีฬาด้านชกมวยของอำเภอหัวหิน



ประวัติ

โผน กิ่งเพชร เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ชื่อจริง มานะ สีดอกบวบ มีชื่อเล่นว่า "แกละ" เป็นบุตรของนายห้อย และนางริ้ว สีดอกบวบ โผนสมรสกับ น.ส.มณฑา เพชรไทย เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2505 มีบุตรสาว 2 คน และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2525

โผนเป็นนักมวยรูปร่างผอมบาง มีช่วงขาที่ยาว ถนัดขวา ส่วนสูง 5 ฟุต 6½ นิ้ว และเป็นแชมป์โลกชาวไทยคนแรกที่ได้ครองแชมป์โลกถึง 3 สมัย แต่ด้วยปัญหาส่วนตัว ทำให้โผนติดสุราจนการชกตกต่ำลง จนเสียแชมป์ไปและไม่มีโอกาสชิงแชมป์คืนได้อีก โผนเป็นตำนานของวงการมวยสากลคนหนึ่งของไทย วันที่โผนชิงแชมป์โลกได้ถูกกำหนดให้เป็นวันนักกีฬายอดเยี่ยม และมีการสร้างอนุสรณ์สถานของเขาที่หัวหินหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว 10 ปี



3.สถานีรถไฟหัวหิน



สถานีรถไฟหัวหิน อยู่ที่ ถ.พระปกเกล้า ต.หัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น พ.ศ. 2525 ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

“พลับพลาพระมงกุฎเกล้า” เป็นเอกลักษณ์ของสถานีรถไฟหัวหิน เป็นพลับพลาจตุรมุขสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมชื่อว่า “พลับพลาสนามจันทน์” อยู่ในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 สมัยพันเอกแสง จุลจาริตต์ เป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย การดำเนินการก่อสร้างนี้ใช้ช่างฝีมือคนไทยและได้มีการทำพิธีเปิดพลับพลา และได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “พลับพลาพระมงกุฎเกล้า”



พลับพลาพระมงกุฎเกล้า

และที่สถานีรถไฟหัวหินยังเป็นที่แสดงหัวรถจักรไอน้ำเก่าที่การรถไฟแห่งประเทศไทยสั่งซื้อมาจากประเทศอังกฤษ หัวรถจักรนี้เคยวิ่งให้บริการในเส้นทางรถไฟในประเทศก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 สถานีรถไฟแห่งนี้จึงเป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวอำเภอหัวหินเป็นอย่างมาก และถือได้ว่าเป็นสถานีรถไฟที่สวยที่สุดในประเทศ



4.คลินิกนิรนาม



คลินิกนิรนามคืออะไร คือคลินิกให้บริการปรึกษาทางดานการแพทย์และสังคมเกี่ยวกับโรคเอดล์และกามโรค รวมทั้งตรวจเลือดการติดเชื้อเอดส์โดยไม่ต้องแจ้งชื่อและที่อยู่

คลินิกนิรนามสำหรับใคร

- ผู้ที่สนใจและต้องการข้อมูลเกี่ยวกับโรคเอดส์และกามโรค

- ผู้ที่กังวลว่าตัวเองติดเชื้อเอดส์หรือไม่

- ผู้ที่จะแต่ง งานหรือมีครอบครัว

- ผู้ที่วางแผนจะมีบุตร

- ผู้ที่จะไปทำงานต่างประเทศ

คลินิกให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพ (คลินิกนิรนาม) คือ คลินิกให้บริการปรึกษาทางการแพทย์และสังคม เกี่ยวกับโรคเอดส์และกามโรค รวมทั้งตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอดส์โดยไม่ต้องแจ้งชื่อและที่อยู่ รูปแบบบริการที่ให้

การรวมกลุ่มช่วยเหลือกันระหว่างผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ ในโรงพยาบาลหรือหน่วยงานบางแห่งมีการรวมกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ เพื่อให้การช่วยเหลือทางด้านจิตใจ การให้คำปรึกษาและจัดกิจกรรมภายในกลุ่ม เช่น การดูแลสุขภาพ การเยี่ยมบ้าน การฝึกอาชีพ เช่น ชมรมแสงเทียนเพื่อชีวิต ชมรมเพื่อนวันพุธ กลุ่มฟ้าสีขาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น



5.วัดเขาอิติสุคโต



ประวัติความเป็นมา

สถานที่ตั้งวัดอยู่บนเนินเขา มีสภาพเป็น ป่าไม้เขียวขจี อยู่ห่างจาก อำเภอหัวหิน ประมาณ 2 กิโลเมตร ทางด้านทิศตะวันตก สำหรับหน้าวัด เป็นพื้นที่ราบสามารถมองเห็นทิวทัศน์ อำเภอหัวหิน และท้องทะเลได้อย่างชัดเจน ส่วนด้านหลังวัด ครอบคลุมด้วยแนวภูเขาตลอดแนว มีพื้นที่ จำนวน 118 ไร่ โดยเริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2480 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2510 สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี

ด้านลักษณะการบริหารงานภายในวัด ประกอบด้วย

1. การปกครอง

เดิมนั้นวัดเขาอิติสุคโต เป็นสำนักสงฆ์แต่ไม่ปรากฏชื่อหัวหน้าสำนัก ต่อมาได้มีเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 2 รูป คือ พระครูประเวทย์วรญาณ อดีตเจ้าอาวาสและเจ้าคณะอำเภอหัวหิน (พ.ศ. 2503 – 2538) และพระครูบรรพต พัฒนคุณ (พ.ศ. 2539 – ปัจจุบัน) มีพระภิกษุ สามเณร อุสาสก อุบาสิกา ในปกครองปีละร้อยกว่ารูป / คน

2. การศึกษา

- จัดให้มีการเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาตรี โท เอก ช่วงเข้าพรรษา

- ส่งเสริมพระภิกษุ สามเณร ไปศึกษาพระปริยัติธรรม นักธรรมบาลี และอุดมศึกษา

ยังสำนักเรียนต่าง ๆ ตลอดจนมหาวิทยาลัยสงฆ์

3. การศึกษาสงเคราะห์

- สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การศึกษาแก่พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่เรียนนักธรรม

และธรรมศึกษา

- สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์และแจกทุนแก่เด็กนักเรียน นักศึกษาระดับประถมศึกษา

มัธยมศึกษาและอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ตลอดจนมหาวิทยาลัยสงฆ์

4. การสาธารณูปการ

ศาสนสถานภายในวัดกำลังดำเนินการก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ โดยใช้กำลังของพระภิกษุสามเณรเป็นสำคัญ

5. การสาธารณสงเคราะห์

- มอบพื้นที่วัดส่วนหนึ่ง เพื่อสร้างสถานที่ราชการ ได้แก่ สำนักงานเกษตรอำเภอหัวหิน บ้านพักครู และศูนย์รักสุนัขหัวหิน ในพระบรมราชูปถัมถ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ. และอนุญาตให้จัดสร้างหมู่บ้านช้างในพื้นที่วัด

- จัดซื้อรถพยาบาล มอบแก่โรงพยาบาลหัวหิน

- สร้างอาคารเรียน ไทยรัฐวิทยา 76 จังหวัดสมุทรสาคร และโรงเรียนอานันต์ (ป่าละอู)

- ร่วมบริจาคโลหิต อวัยวะ และร่างกาย แก่สภากาชาดไทยเป็นประจำทุกปี

สิ่งที่น่าสนใจศึกษาและเรียนรู้

1. มีการบวชเนกขัมมะ(บวชชีพราหมณ์) ตลอดทั้งปี โดย จะแต่งกายชุดขาว สมาทานรักษาศีล 8 สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น เจริญภาวนา แผ่เมตตา และฟังธรรมบรรรยาย

2. มีโครงการปฏิบัติธรรมค่ายอดิเรกธรรม โดยมีนักเรียน นักศึกษา และเยาวชนทั่วไป มาเข้ารับการอบรมสมาทานรับ ศีล 8 สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น เจริญภาวนา แผ่เมตตา และฟังการบรรยายธรรม

3. ศึกษาธรรมชาติ และ ศึกษาหมู่บ้านช้าง

4. สิ่งปลูกสร้างในวัดที่อลังการ เช่น พระพุทธรูปองค์ใหญ่ 6 องค์ อยู่รายรอบวัด

สถานที่ตั้ง

วัดเขาอิติสุคโต ที่ตั้ง 38/35 หมู่บ้านเขาน้อย ต.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

เบอร์โทรศัพท์ 032--534-377

ชื่อภูมิปัญญา / ผู้รับผิดชอบ

พระครูบรรพตพัฒนคุณ (หลวงพ่อปรีชา ไข่แก้ว) เจ้าอาวาส วัดเขาอิติสุคโต



6.กลุ่มแปรรูปสมุนไพรบ้านวังข่อย ตำบลทับใต้



ประวัติความเป็นมา

กลุ่มแปรรูปสมุนไพรบ้านวังข่อยจัดตั้งกลุ่มเมื่อวันที่ 4 เดือน เมษายน 2544 ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลทับใต้ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จัดตั้งโดยกลุ่มสตรีในหมู่บ้านและคณะกรรมการกองทุนที่ได้ปรึกษาหารือกันเพื่อรวมกลุ่มทำเป็นอาชีพเสริมในการเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว และเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์

คณะกรรมการกองทุนได้ปรึกษาในที่ประชุมโดยมีหน่วยงานราชการเข้าร่วมประสานงาน คือ ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอหัวหิน และพัฒนาชุมชนประจำตำบล ได้ให้คำแนะนำว่า ในหมู่บ้านวังข่อยมีผลผลิตทางการเกษตรและพืชสมุนไพรขึ้นตามธรรมชาติจำนวนมากที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงได้ทำการนัดประชุมคณะกรรมการสตรีและผู้นำองค์กรชุมชน และได้จัดให้กลุ่มสตรีและกลุ่มเกษตรได้ไปศึกษาดูงานและฝึกอบรมการแปรรูปสมุนไพรที่บ้านดงพิกุล อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง และกลุ่มกล้วยอบม้วน อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี มีสมาชิกไปดูงานจำนวน 50 คน หลังจากการศึกษาดูงานศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอหัวหินได้จัดกลุ่มฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นการแปรรูปสมุนไพรในชุมชน ได้แก่ มะกรูด ตำลึง มะตูม บอระเพ็ด มะละกอ มะระขี้นก เขียวไข่กา มะเขือเทศ และ กระชาย สมาชิกของกลุ่มได้ลองผิดลองถูก จนกระทั่งได้สูตรเฉพาะของกลุ่ม และได้วางจำหน่ายตามร้านค้าในชุมชน และขยายไปที่ร้านโกลเด้นเพลส ร้านขนมหวานขึ้นชื่อของหัวหินเช่น ร้านแม่เก็บและหน้าวัดห้วยมงคลในวันหยุด จนขณะนี้ยอดการจำหน่ายเป็นที่น่าพอใจ และมีตัวแทนจำหน่ายจากกรุงเทพและต่างจังหวัดสั่งไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริมของชุมชนจนถึงปัจจุบันนี้



7. แหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ต.ห้วยสัตว์ใหญ่



ประวัติความเป็นมา

บ้านป่าละอูบนเป็นหมู่บ้านที่ตั้งมานานนับร้อยปี ในอดีตก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะมีกลุ่มบ้านเล็กๆ กระจายอยู่ตามชายแดนเชิงเขาตะนาวศรี ตั้งแต่เหนือจรดใต้ของประเทศไทย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบ้านป่าละอู จะเริ่มที่ต้นน้ำห้วยสัตว์ใหญ่ จะมีกลุ่มบ้านเล็กๆ กลุ่มละ 4-5 หลัง นอกจากนั้นก็ยังเป็นที่ห้วยสัตว์เล็ก บริเวณบ้านป่าเด็งปัจจุบันสองฝั่งแม่น้ำปราณบุรี บริเวณบ้านฟ้าประทานแถววัดอานันท์ แถวบ้านป่าละอูบนปัจจุบัน บ้านป่า ละอูน้อย บ้านสวนขนุนริมฝั่ง ห้วยสะตือ บ้านแพรกตะคร้อ บ้านสวนทุเรียน บ้านแพรกตะลุย(บ้านป่าหมาก) บ้านมะค่าสี่ซอง บ้านหนองพลับ บ้านสาระเห็ด ต่อมาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีปัญหาจากทหารต่างชาติในบางครั้ง ปัญหาจากความอดอยากยากแค้น ปัญหาโรคระบาดปัญหาโจรผู้ร้าย ปัญหาความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ปัญหาการติดต่อทางข้าราชการ ทำให้กลุ่มชาวบ้านเริ่มอพยพมารวมตัวกันจากบ้านมาเป็นกลุ่มบ้านและหมู่บ้าน ในที่สุดก็กลายมาเป็นหมู่บ้านป่าเด็ง ป่าละอู และป่าหมาก หลังจากนั้นก็มีปัญหาการเมืองเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ มีการอพยพโยกย้ายชาวบ้านโดยมีการย้ายบ้านป่าละอูบนมาตั้งที่บ้านแม่น้ำปราณข้างวัดอานันท์

ต่อมามีโครงการสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่และมีการย้ายชาวบ้านออกจากแม่น้ำปราณกลับไปอยู่ที่บ้านป่าละอู จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยุบตัวลง ชาวบ้านที่เคยหลบหนีภัยคอมมิวนิสต์ข้ามไปอยู่ฝั่งพม่าได้อพยพในลักษณะทยอยกลับมาเรื่อยๆ ในลักษณะกลับเข้ามาดูสถานการณ์ก่อน ต่อมากเกิดการแตกพ่ายของกองกำลัง knu บริเวณชายแดนไทยพม่าทำให้มีการหลั่งไหลกันกลับเข้ามาของชาวบ้านเก่าผสมกับชาวบ้านใหม่ จนกระทั่งกองกำลังสุรสีห์เข้ามาคัดแยก โดยชาวบ้านเก่าได้อาศัยต่อไป ส่วนคนใหม่ที่เป็นกระเหรี่ยงฝั่งพม่าแท้ๆ ถูกนำส่งศูนย์อพยพที่ถ้ำหินราชบุรีและร้อคคะนี อ. สังขละบุรี จ. กาญจนบุรี การปรับที่อยู่ใหม่ครั้งนี้ทำให้เกิดหมู่บ้านแพรกตะคร้อขึ้นมาอีก 1 หมู่บ้าน

บริเวณเชิงเขาตะนาวศรีเป็นที่อยู่ของชาวกระเหรี่ยงมายาวนานพอสมควร กระเหรี่ยงกลุ่มนี้มีการติดต่อกับกระเหรี่ยงลุ่มน้ำเพชรในลักษณะการท่องเที่ยวเยี่ยมเยียนกันมาโดยตลอด ส่วนกระเหรี่ยงฝั่งพม่าก็จะติดต่อท่องเที่ยว ซื้อขาย และหลบภัย นอกจากนี้กระเหรี่ยงยังมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันเอง

ชาวกระเหรี่ยงมีวัฒนธรรมต่างๆ เช่น วัฒนธรรมของการตั้งบ้านเรือน วัฒนธรรมในการรับแขก โดยมีลักษณะทางวัฒนธรรมที่สำคัญดังนี้

วัฒนธรรมในการเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ คนกะเหรี่ยงทั่วไปลูกๆ จะเคารพพ่อแม่จะไม่โต้เถียงผู้ใหญ่ น้องจะเคารพเชื่อฟังพี่ เมียจะให้มีความเคารพในสามี

วัฒนธรรมการแต่งกาย ผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุง โพกหัว สวมเครื่องประดับเป็นสร้อยลูกปัดรอบคอ สร้อยลูกปัดยาว ตุ้มหู และกำไลข้อมือ ส่วนผู้ชายจะนุ่งโสร่งหรือโจงกระเบน สวมเสื้อแขนสั้น

วัฒนธรรมด้านการแสดง การละเล่น การกีฬา กีฬาที่คนกะเหรี่ยงนิยมเล่นกันในพื้นที่ป่าละอูและบริเวณใกล้เคียงก็จะมี การแข่งยิงสะบ้า การเล่นตะกร้อ มวยปล้ำ ในปัจจุบันมวยปล้ำหาดูไม่ได้แล้วไม่มีใครเล่นเป็นอีกแล้ว ส่วนการละเล่นหรือการแสดงอย่างอื่นเท่าที่มีอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน การร้องเพลงลักษณะเกี้ยวพาราสีโต้ตอบว่ากล่าวกันในบทเพลง การร่ายรำในแบบการรำแคน การรำดง

วัฒนธรรมด้านอาหารการกิน ของชาวกะเหรี่ยงเป็นอาหารง่ายๆ ปกติแล้วในอาหารแต่ละมื้อจะไม่ขาดผักและน้ำน้ำพริก ส่วนรสชาตินั้นก็แล้วแต่ความชอบของบุคคลบางคนชอบรสจัด บางคนก็อาจไม่ชอบรสจัด บางคนก็อาจไม่ชอบชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่าละอูและใกล้เคียงจะไม่ชอบรสมัน อาหารประเภทผัดจะไม่มีวัฒนธรรมความเชื่อ ศาสนาใหญ่ที่คนกะเหรี่ยงนับถือมี 2 ศาสนา คือ ศาสนาคริสต์และพุทธ


ประเพณีที่สำคัญของชาวกะเหรี่ยง ได้แก่ การเรียกขวัญเด็กเกิดใหม่ การเรียกขวัญคนป่วย การเรียกขวัญคนสูงอายุ กินข้าวห่อ การเรียกขวัญข้าว การไหว้พระจันทร์ การทำบุญเผากระดูก ประเพณีขึ้นบ้านใหม่ รวมถึงเทศกาลคริสตมาสต์ด้วย



8.วัดหนองพลับ



วัดหนองพลับ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองพลับ หมู่ที่ 2 ตำบลหนองพลับ อำเภอหนองพลับ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย อาณาเขต ทิศเหนือจดโรงเรียนหนองพลับวิทยา ทิศใต้ติดโรงเรียนบ้านหนองพลับ ทิศตะวันออกจดทางสาธารณะ ทิศตะวันตกจดภูเขา มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 30 ไร่ อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2518 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญกว้าง 12 เมตร ยาว 20 เมตร สร้างกุฏิสงฆ์ จำนวน 1 หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 1หลัง โรงเรียนพระปริยัติธรรม 1 หลัง สร้างด้วยเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หอระฆัง 1 หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาธรรมสภา 1 หลัง กว้าง 24 เมตร ยาว 47 เมตร 2 ชั้น เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ปูชนียวัตถุ มีพระประธานประจำอุโบสถ 1 องค์ ขนาดหน้าตัก 52 นิ้ว พร้อมพระอัครสาวก
                  วัดหนองพลับ ตั้งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร การบริหารการปกครอง มี พระครูโกศลภัทรกิจ เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ปัจจุบัน


9.โครงการหม่อนไหมสมเด็จฯ ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์


ประวัติความเป็นมา

สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวณีย์ให้ก่อตั้ง โครงการ

หม่อนไหมสมเด็จฯ ขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2514 เพื่อพระราชทานให้กับประชาชนในพื้นที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่ใกล้เคียง เป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ในการประกอบอาชีพเกี่ยวกับการปลูกหม่อน, เลี้ยงไหม ในที่ดินส่วนพระองค์ฯ ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ 5 แปลง รวมเนื้อที่ 745 – 2 – 70 ไร่

วัตถุประสงค์

1. เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ยากจนให้มีที่ทำกิน

2. เพื่อส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

3. เพื่อผลิตเส้นไหมใช้ในประเทศและส่งออกลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

4. เป็นสถานที่ฝึกอบรมสำหรับผู้สนใจ การประกอบอาชีพปลูกหม่อน – เลี้ยงไหม

5. เพื่อศึกษาทดลองและปรับปรุงพัฒนาการเลี้ยงไหมภายในประเทศการดำเนินการในอดีต

พ.ศ. 2514

- ก่อตั้งโครงการหม่อนไหมสมเด็จฯ ในพื้นที่ส่วนพระองค์ ซึ่งราษฎรในพื้นที่น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน โดยมีพลเรือเอกนิรันดร์ ศิรินาวิน สมุหราชองค์รักษ์เป็นผู้รับสนองงานโครงการฯ

- กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายนเรศวร (ปัจจุบันเป็นกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน) จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าบุกเบิกพื้นที่และเป็น เจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

- กรมชลประทานได้ขุดอ่างเก็บน้ำระยะแรกจุน้ำได้ 75,000 ลูกบาศก์เมตรต่อมาเสริม

ขอบอ่างอีก 2 ครั้ง สามารถจุน้ำได้ 120,000ลูกบาศก์เมตร

- แขวงการทางหัวหิน บุกเบิกถากถางพื้นที่และตัดถนนเข้าสู่โครงการ

- การพัฒนาที่ดิน ไถพรวนดินปรับปรุงพื้นที่เพื่อทำการปลูกหม่อน

พ.ศ. 2516

- เริ่มทำการปลูกหม่อนและศึกษาข้อมูลการเลี้ยงไหมและเริ่มทดลองเลี้ยงไหมระยะแรก

พ.ศ. 2517

- กรมการทหารช่างราชบุรีดำเนินการก่อสร้างโรงเลี้ยงไหมวัยแก่, บ้านพักคนงาน, ที่ทำงาน, บ้านพักเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งสร้างแทงค์เก็บน้ำและโรงสูบน้ำ

- กรมวิชาการเกษตรสร้างโรงเลี้ยงไหมวัยอ่อน

- การเลี้ยงไหมเริ่มประสบผลสำเร็จและเผยแพร่วิชาการทั่วไปศูนย์ไหมต่างๆ ทั่วประเทศ

- การเลี้ยงไหมภายในพื้นที่โครงการฯ เริ่มต้นจากสมาชิก 4 ครอบครัว และมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 6 ครอบครัว

พ.ศ. 2541

- พ.ศ.2541 มีการเปลี่ยนแปลงแนวพระราชดำริและ ผู้บริหารงานโครงการฯ ซึ่งพลเรือเอกนิรันดร์ ศิรินาวิน สมุหราชองครักษ์ ชราภาพ จึงถวายงานโครงการฯ คืน และ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ ได้พระราชทานให้ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ฑีขะระ รองราชเลขาส่วนพระองค์และผู้อำนวยการกองศิลปาชีพใน พระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นผู้รับสนองงานโครงการฯ สืบต่อจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2543

- ส่งเสริมให้สมาชิก 6 ครอบครัว ทำการปลูกหม่อนเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่

- ส่งเสริมให้สมาชิกทำการเลี้ยงไหม, สาวไหมปีละ 6 รุ่น รุ่นละ 2 กล่อง/ครอบครัว

มีพระราชดำริให้ดำเนินการจัดทำ ฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ แห่งที่ 9 ของประเทศไทย ในพื้นที่โครงการหม่อนไหมสมเด็จฯ โดยให้ผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ

(คุณสหัส บุญญาวิวัฒน์) เป็น ผู้ดำเนินงานโครงการฯ

- โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2543 – ปัจจุบัน

- ในปี 2543 เริ่มปลูกส้มโชกุน, แก้วมังกร, มะละกอ, มะพร้าวน้ำหอม งานผักอนามัย, งานไม้ดอกไม้ประดับ, งานประมง, งานปศุสัตว์, งานพืชไร่ ข้าวโพด สับปะรด และสนับสนุนแรงงานและอุปกรณ์การเกษตรให้วังไกลกังวลและโครงการสวนพฤกษชาติ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง

1. เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารให้เพียงพอต่อการบริโภคในพื้นที่

2. เพื่อเป็นแหล่งจัดหางานและจัดจ้างงานในพื้นที่

3. เพื่อเป็นแหล่งทดลองและถ่ายทอดความรู้ทางการเกษตรและเป็นสถานที่สำหรับฝึกอบรมและศึกษาดูงานแก่ผู้ที่สนใจสถานที่ตั้ง ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ผู้รับสนองโครงการ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ฑีขะระ รองราชเลขาส่วนพระองค์ และผู้อำนวยการกอง
ศิลปาชีพในพระบรมราชินูปถัมภ์

ผู้ที่ติดต่อประสานงาน คุณสมชาย ชาลีวรรณ ( 06 – 3989140)

เวลาที่เปิดให้บริการ เปิดทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 09.00 – 16.30 น.

การเดินทาง ระยะทางจากหัวหิน – โครงการหม่อนไหมฯ และ โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ประมาณ 7 กิโลเมตร

10.หอสมุดรัชมังคลาภิเษกวังไกลกังวลอำเภอหัวหิน


ประวัติความเป็นมา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถแปรพระราชฐาน ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนวังไกลกังวล และได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรห้องสมุดโรงเรียนวังไกลกังวลซึ่งไม่ค่อยสมบูรณ์นัก อยู่ในสภาพที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมากจึงจะเป็นห้องสมุดที่ดีมีมาตรฐาน ได้ทรงปรารภกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ (คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย) และคณะครูโรงเรียนวังไกลกังวล ทำนองว่าน่าจะมีห้องสมุดที่ได้มาตรฐานเพื่อให้นักเรียน นักศึกษา บุคคลทั่วไปและชาวต่างประเทศที่มาท่องเที่ยวหัวหิน ได้ศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ และยังทรงเล่าว่าเมื่อพระองค์ทรงพระเยาว์ได้ติดตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถมาแปรพระราชฐานที่วังไกลกังวล พระสหายของพระองค์ไปเล่นน้ำทะเลกัน ส่วนพระองค์นั้นไม่ได้ไปเล่นด้วยเนื่องจากประชวรด้วยไข้หวัดแต่ประทับอ่านหนังสือ และอ่านแทบทุกเล่ม และทุกเรื่องในห้องสมุด

พระราชปรารภยังความปลื้มปิติยินดีแก่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รองเลขาธิการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ และคณะครูอาจารย์ของโรงเรียนวังไกลกังวลเป็นล้นพ้น จากนั้นร่วมกันพิจารณาดำเนินการตอบสนองพระราชดำริ นับว่าเป็นวโรกาสที่ดีเนื่องในรัชสมัยพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกที่ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศได้บำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณชน เพื่อถวายเป็นราชสักการะ จึงได้นำความเหล่านี้ประชุมหารือกันระหว่างข้าราชการทุกสังกัด พ่อค้าประชาชนทุกสาขาอาชีพในจังหวัด ได้ข้อยุติว่าให้มีการก่อสร้างหอสมุดรัชมังคลาภิเษกโดยเป็นอาคารมั่นคงถาวร ขนาดใหญ่ เป็นศรีสง่าภูมิฐานเพื่อถวายเป็นราชสักการะเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้ใช้สถานที่บริเวณหน้าโรงเรียนวังไกลกังวล ติดกับพระราชฐานชั้นนอกในเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 28 ตารางวา และได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539